ด้วยน้ำเสียงที่ปราศจากความท้อแท้หรือสิ้นหวัง คำกล่าวถึง "เส้นขอบฟ้า" ข้างต้นจึงไม่ได้เป็นแต่เพียงความในใจของผู้ป่วยโรคมะเร็ง แต่เป็นความหวังและคุณค่าในการมีชีวิตอยู่ของคนคนหนึ่งที่กำลังเดินไปสู่เส้นขอบฟ้า ด้วยการสร้างและลงมือทำในสิ่งที่หวังไว้ว่าจะเป็นการ "ตอบแทนสังคม" ด้วยวิธีการของตนเอง
ทวีศักดิ์ เสสะเวช...ชื่อนี้เป็นที่รู้จักในนามอดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้เคยมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการเกษตรไทยอย่างยิ่งในระยะเวลาที่ดำรงตำแหน่งทางราชการ อาทิ เป็นผู้ริเริ่มการส่งเสริมแบบ Training and Visiting ของกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมปศุสัตว์ เป็นผู้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบชลประทานลุ่มน้ำป่าสัก ลุ่มน้ำปากพนัง คลองท่าด่าน และลุ่มน้ำบางปะกง และถวายการรับใช้สนองเบื้องพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโครงการพระราชดำริ โครงการธนาคารโค-กระบือและโครงการพัฒนาลุ่มน้ำ และยังได้รับพระบรมราชานุญาตให้ปฏิบัติหน้าที่พระยาแรกนาในพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑ ๒๕๓๓ ๒๕๔๐ และ ๒๕๔๑
แม้หลังเกษียณอายุราชการเมื่อปี พ.ศ.๒๕๔๑ เส้นทางชีวิตของอดีตปลัดกระทรวงเกษตรฯท่านนี้ก็ยังคงอยู่กับต้นไม้ใบหญ้า แต่ไม่ใช่เป็นการอยู่บ้านทำสวนของข้าราชการบำนาญคนหนึ่งเท่านั้น หากแต่เป็นการสร้างสวนพฤกษศาสตร์ในเนื้อที่ ๒๘๕ ไร่ ริมถนนเชียงใหม่-ดอยสะเก็ด อำเภอดอยสะเก็ด จังหวัดเชียงใหม่ ในนาม "สวนพฤกษศาสตร์ทวีชล" ด้วยจุดประสงค์เพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาเรียนรู้ของเยาวชนและผู้สนใจเรื่องพฤกษศาสตร์
และนี่คือที่มาที่ไปของชีวิตและเรื่องราวการเดินทางสู่เส้นขอบฟ้าที่มีสิ่งน่าสนใจมากมายอยู่ตามรายทาง...
"ผมเป็นคนฝั่งธน บางแค คุณพ่อผม (นพ.ผดุง เสสะเวช) เป็นหมอ ท่านทำคลินิกอยู่ที่วงเวียนใหญ่ ส่วนคุณแม่ (สุจิตรา เสสะเวช) ทำอาชีพค้าขาย ทำตลาด โรงเรียน เรามีโรงเรียนเสสะเวช ตลาดเสสะเวช คุณพ่อ คุณแม่ผมเป็นคนธรรมดา ไม่ใช่ใหญ่โต แต่มีฐานะ เพราะเราค้าขาย เราหาเงินมาได้ด้วยความสุจริต อย่างสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ คนหนีสงครามกัน แต่คุณแม่ซื้อที่ที่ดาวคะนอง ๘,๐๐๐ บาท เดี๋ยวนี้ ๔๐๐ ล้าน
คุณแม่สอนลูกให้ติดดิน เมื่อผมเล็กๆคุณแม่ทำงานไปด้วยเลี้ยงลูก ๗ คนไปด้วยโดยไม่มีคนใช้ ผมจะได้เงินมาสักห้าสิบสตางค์ ผมต้องตักน้ำใส่โอ่งแกว่งสารส้มแล้วก็กวาดถนน เพราะผมอยู่บ้านสวน เสาร์ อาทิตย์ก็เอามีดไปดายหญ้าในร่องสวน ได้ร่องละบาท ท่านฝึกผมมาให้รู้จักค่าของเงิน
...ผมเป็นนักเรียนเก่าโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน จบ ม.๓ เมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๘ นักเรียนรุ่นเดียวกับผมที่ยังคบหากันถึงทุกวันนี้ก็คือ คุณอาสา สารสิน พอเรียนจบผมก็ไปเรียนต่อไฮสกูลที่อเมริกา ตอนนั้น คุณพจน์ สารสิน บิดาคุณอาสาเป็นเอกอัครราชทูตอยู่วอชิงตัน ดี.ซี.ท่านใจดีมาก พอปิดเทอมซัมเมอร์ที เพื่อนลูก ลูกเพื่อนเฮกันมาจากทุกสารทิศในอเมริกา ท่านก็เอาเตียงมาเสริมใต้ถุนห้องใต้ดินทำเนียบเอกอัครราชทูต ๔๐ เตียงเลย เป็นที่มาของนักเรียนอเมริการุ่นใต้ถุนทำเนียบ มีความสุขมาก เล่นกัน แกล้งกัน กลางคืนย่องมาสะเดาะกลอนห้องครัว ของที่คุณเพิ่ม-แม่ครัวเตรียมให้ท่านทูต เราก็ฟาดซะก่อน คุณพจน์ท่านก็ใจดี บอกให้ไปซื้อมาใหม่ คุณเพิ่มก็บอกว่าอยากรู้ว่ากลุ่มนี้มันจะเอาตัวรอดกันยังไง ก็มีทั้งเป็นใหญ่เป็นโต เป็นปลัดกระทรวง เป็นรัฐมนตรี เป็นองคมนตรี เช่น คุณสวัสดิ์ วัฒนายากร องคมนตรี ท่านราชเลขาธิการ คุณอาสา สารสิน ฯลฯ
ผมเองเป็นคนที่ชอบสงบ แต่เมื่ออยู่ในกลุ่มก็ต้องเฮ แต่ถึงเวลาเรียนก็เรียน ที่จริงคุณพ่อ คุณแม่ผมอยากให้เรียนหมอ แต่พูดตรงๆว่าการเรียนแพทย์ที่อเมริกานั้นยาก พอจบไฮสคูลผมมีโอกาสได้เข้าจอห์น ฮอปกินส์แล้วนะ แต่เรียนอยู่เทอมเดียว ส่วนคุณอาสาเขาเรียนทางรัฐศาสตร์ ตอนนั้นคุณพจน์ คุณพ่อคุณอาสาอยู่วอชิงตัน คุณอาสาก็มาพบคุณพ่อทุกอาทิตย์ ผมก็ตามมาด้วย หนังสือหนังหาก็ไม่ได้ท่องเท่าที่ควร เรียนๆไปผมก็มองเห็นอนาคตแล้วว่าผมสอบตกแน่ ก็เลยบอกคุณอาสาว่า เพื่อน เราแยกกันดีกว่า ถ้าเราอยู่รวมกัน เราคงเรียนไม่จบทั้งคู่ (หัวเราะ) เขาก็ไปอยู่บอสตัน ทางตะวันออก ผมไปตะวันตกเลย ไปที่เมืองมอร์มอนท์"
นักเรียนหนุ่มน้อยจากเมืองไทยไปสำเร็จวิชาเกษตรศาสตร์จาก Utah State University เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๒ หลังจากจบการศึกษาก็เข้ารับราชการในตำแหน่งนักเกษตรโท กองส่งเสริมและเผยแพร่ กรมการข้าว ค่อยๆไต่เต้าขึ้นไปสู่ตำแหน่งข้าราชการระดับสูงในตำแหน่งรองอธิบดี อธิบดีและปลัดกระทรวง
"ผมไปเรียนที่มหาวิทยาลัยยูท่าห์ เพราะเขาทำเรื่องการเกษตรดี แต่ไม่มีเรื่องการปลูกข้าว มีเรื่องการปลูกผลไม้ สัตว์เลี้ยง เรื่องการทดลองวิจัยต่างๆนั้นดีมาก พอเรียนจบผมก็กลับมาเมืองไทย ตอนนั้น ม.จ.จักรพันธ์เพ็ญศิริ จักรพันธุ์ ท่านทรงเป็นอธิบดีกรมการข้าว ผมก็เลยมาเข้าที่นี่เพราะท่านเคยเสด็จเยี่ยมโรงเรียนผมที่ยูท่าห์ และผมก็มีโอกาสได้รู้จักกับท่าน พอเข้ามา ท่านก็ให้ผมไปทดลองงานทั่วไปจนกระทั่งเห็นว่าผมเหมาะสมกับงานส่งเสริม เพราะมีมนุษยสัมพันธ์ดี
...ผมเข้ามารับราชการใหม่ๆ ต้องไปพัทลุง ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นเมืองคนดุ เดินอยู่ในเมือง เห็นคนพกมีดดาบเดิน ผมก็ไปนอนโรงแรมคืน ๑๒ บาท มุ้งมีคราบเลือด มีตัวเห็บ แต่ผมก็อยู่เพราะเช้าก็ต้องไปทำงานส่งเสริมให้เกษตรกร อย่างที่บอกว่าพ่อแม่เลี้ยงผมมาอย่างคนติดดิน ผมไม่เคยรู้สึกว่าขยะแขยงหรือรังเกียจชาวไร่ชาวนา ยิ่งเขายากจน เรายิ่งสงสารเขา เขาไม่มีโอกาส บางคนเงินสดพันหนึ่งนี่ไม่เคยเห็น ผมเห็นแล้วก็รู้สึกว่าถ้าเราไม่ช่วยเขา แล้วใครจะช่วย ไม่ใช่ว่าเราเป็นนักเรียนนอกแล้วทำงานอย่างนี้ไม่ได้ รุ่นผมก็มีที่เป็นนักเรียนนอก ขอโทษเถอะ เรื่องอย่างนี้เขาไม่ทำหรอก เขาก็ไปทำงานผูกเน็คไท แต่ผมมีคอนเซปต์ว่า หนึ่ง ทำแล้วสนุก ทำให้จิตใจเราสบาย สอง ให้สิ่งที่เราทำ ทุกคนได้ประโยชน์
ต่อมากรมการข้าวถูกยุบไป เปลี่ยนมาเป็นกรมส่งเสริมการเกษตร ผมก็โอนมาอยู่กรมส่งเสริมฯ ผมเป็นรองอธิบดีเมื่ออายุ ๓๘ ปี เป็นอยู่ ๑๐ ปีแล้วก็มาเป็นอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร และกรมปศุสัตว์ จากนั้นก็มาเป็นปลัดกระทรวงจนกระทั่งเกษียณ ตลอดชีวิตราชการ ๓๘ ปี ผมทำงานเกี่ยวข้องกับคนยากคนจน ชาวไร่ชาวนา ส่วนใหญ่ก็จะเป็นการแก้ปัญหาความยากจนของเกษตรกร ผมบอกได้เลยว่ามันไม่ใช่เรื่องที่จะมาแก้กัน ๒-๓ ปี เกษตรกรไทยแบ่งเป็นสามกลุ่ม กลุ่มแรกเป็นกลุ่มเกษตรก้าวหน้า เขามีทุน มีสมอง เขาไปโลด กลุ่มที่สองพอจะมีความรู้ เราช่วยประคับประคองบ้างนิดหน่อยก็ได้ แต่กลุ่มที่สามเป็นกลุ่มผู้ยากไร้ไม่มีที่ดินทำกินซึ่งมีจำนวนมากที่สุด เราต้องดูแลเขาเป็นพิเศษ สอนตั้งแต่ทำแปลงสาธิต ข้าวจะแตกกอต้องอย่างนี้ การเอาของไปให้เขา ให้เงินเขาไปใช้ ต้องคิดว่าเขาจะคืนหนี้ได้ไหม คำว่าปลดหนี้น่ะดี แต่ปลดแล้วเขากลับมาเป็นหนี้อีกไหม โครงการทั้งหลายที่เป็นประชานิยมก็ต้องคิดให้หนักครับ ผมอยู่กับเกษตรกร ชาวไร่ชาวนาที่ยากจนมา ผมรู้ว่าเขาต้องการได้ อย่างถ้าบอกว่าวันนี้จะประชุมแจกปุ๋ยแจกเมล็ดพันธุ์นะ มาเต็มศาลาเลย แต่พอบอกว่ารายนี้เป็นหนี้เท่านี้นะ ฤดูเก็บเกี่ยวต้องมาส่งหลวงนะ มาไม่ถึงครึ่ง อันนี้เป็นธรรมชาติของเขา ถ้าเราเอาไปให้เขา เขาชอบนโยบายประชานิยมก็ดีบางเรื่องแต่ไม่ดีทั้งหมด ต้องคิดให้หนักเพราะเป็นเงินของชาติและบางทีก็อาจจะไม่ใช่การแก้ปัญหาที่แท้จริงให้แก่เกษตรกร"
แม้ภาระหน้าที่ในทางราชการจะสิ้นสุดเมื่อเกษียณอายุราชการ แต่การทำงานด้านการเกษตรซึ่งเป็นงานที่ทำด้วยใจรักยังคงดำเนินต่อเนื่องไป ณ ที่ดิน ๒๘๕ ไร่ ที่จังหวัดเชียงใหม่ นับตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๔๑ มาจนถึงปัจจุบันจนกลายเป็น "สวนพฤกษศาสตร์ทวีชล" ที่เป็นศูนย์รวมพันธุ์ไม้นานาชนิดเพื่อให้ผู้สนใจได้เข้ามาศึกษา ทั้งนี้ผู้ก่อตั้งย้ำว่าเป็นการลงทุนโดยไม่หวังผลกำไรแต่เป็นการทำงานเพื่อ "ตอบแทนสังคม"
"ผมทำสวนพฤกษศาสตร์นี้ ก็อาจเรียกว่าทำธุรกิจ แต่ก็ไม่ใช่ว่ามีเงินนึกจะทำก็ทำ ตอนนี้ก็เรียกว่าทำแล้วขาดทุน แต่ผมทำเพื่อจิตวิญญาณของผม ผมเกษียณมาแล้วก็จริงแต่ผมยังถือว่าผมเป็นข้าราชการบำนาญ ยังได้เงินเดือนเดือนละ ๓๘,๐๐๐ จนกระทั่งผมตาย เพราะฉะนั้นสติปัญญามี ควรจะต้องใช้ ไม่ใช่ออกมาแล้วเลี้ยงหลานอย่างเดียว ท่านองคมนตรี พลเอก เปรม ติณสูลานนท์ ท่านบอกว่าเกิดมาควรตอบแทนบุญคุณแผ่นดิน คืนอะไรไปให้แก่แผ่นดินบ้าง ผมเองถือว่าผมคืนสังคมในเรื่องวิชาการ ให้คนเข้ามาศึกษาในเรื่องการเกษตรซึ่งเป็นสิ่งที่ผมถนัด
แนวคิดของการทำสวนพฤกษศาสตร์นี้ก็คือผมมาคิดว่า ผมมีที่อยู่แล้ว เป็นที่ที่ซื้อมาตั้งแต่เป็นข้าราชการชั้นเอก ประมาณ ๒๐ ปีก่อน ผมซื้อตั้งแต่ไร่ละ ๓๐,๐๐๐ จนเดี๋ยวนี้ไร่ละล้าน มันก็เป็นผลบวกว่าเรามองการณ์ไกลว่าที่ดินจะแพงขึ้น และตอนที่เราซื้อนั้น ก็ไม่ใช่ว่ามีสตางค์มาก แต่เป็นการเก็บเล็กผสมน้อย ซื้อที่ตรงนี้ใช้เวลา ๑๕ ปีกว่าจะได้ผืนใหญ่ขนาดนี้ และผมไม่ได้ซื้อแบบนายทุนที่ไปกว้านซื้อ ก็มีแบบ...ท่านคะ ตอนนี้จะขาย ๓-๕ ไร่ ผมก็ซื้อโดยที่ไม่ได้เอาอิทธิพลหรืออำนาจทางราชการไปบีบเขา ทุกอย่างทำมาด้วยความสุจริต ก่อนนี้ผมไม่มีเวลาเข้ามาพัฒนา ก็ปลูกหญ้า เลี้ยงวัว ปลูกผลไม้ไป พอผมใกล้เกษียณ ก็มองว่าเรามีที่มากพอสมควรแล้ว เราควรคิดว่าจะทำอะไร ทีแรกไม่ได้คิดจะทำถึง ๒๘๕ ไร่ คิดจะทำแค่ ๒๐-๓๐ไร่ ทำสวนปาล์ม ผมชอบปาล์มเพราะฟอร์มมันสวยและใบมันไม่ค่อยร่วง แล้วผมก็ชอบต้นไม้ พอทำไปก็บานไปเรื่อยๆ ตรงนั้นก็ดี ตรงนี้ก็ดี จนหมด ๒๘๕ไร่เลย ใช้เวลา ๘ ปีในการพัฒนา
ผมเชื่อว่าคนที่เข้ามาดูจะได้รับความรู้ เรื่องที่หนึ่งคือพฤกษศาสตร์ ผมมีตั้งแต่ปาล์ม ๕๐ กว่าชนิด มีสวนสมุนไพร มีไม้ประจำจังหวัด ไม้ฤดูกาล ไม้ตัดดอก ไม้ดัด แต่มาคิดอีกว่าพฤกษศาสตร์ไม่เพียงพอ เราต้องอิงเรื่องศิลปวัฒนธรรมด้วย ผมก็สร้างพิพิธภัณฑ์และวิถีชีวิตล้านนา มีเรือนไม้ท้องถิ่นและวิถีชีวิตชาวบ้านย้อนไป ๖๐-๗๐ ปี อยากให้อนุชนรุ่นหลังได้ดูบ้านเก่าๆซึ่งทางภาคเหนือถูกคนซื้อเอาไปแปรรูปหมด บ้านเก่าๆก็หมดไป ทีนี้เมื่อมีคนมาเที่ยว ผู้ใหญ่อาจจะสนใจพฤกษศาสตร์ แต่เด็กคงไม่ไหว ก็เลยทำสวนสัตว์ในเนื้อที่ ๕ ไร่ แล้วก็ทำแคมป์ไฟจุได้ ๒๐๐ คน มีเต็นท์ให้เช่า อาหาร ๓ มื้อ รวมแล้ว ๓๗๕ บาท แล้วได้เที่ยวสวนฟรี มีบริการปั่นจักรยาน ปั่นเรือ รถม้าลำปาง มีสปอร์ตคอมเพล็กซ์ โรงแรม และห้องประชุมสำหรับจัดสัมมนา
อย่างในเรื่องการจัดการ ผมสร้างศูนย์เรียนรู้ คือทำเป็นเมนูเลยว่าถ้าเด็กนักเรียนเข้ามา ให้เขาเลือกว่าเขามีเวลาเท่านี้เขาจะดูอะไร ดูสวนสัตว์ ดูต้นไม้ ถ้าในเรื่องการเกษตรก็จะมีการสาธิตทาบกิ่ง ตัดต่อกิ่ง ขยายพันธุ์ไม้ประดับคือไม่ใช่คุณเดินไปเรื่อยๆแล้วมองต้นไม้ ไม่ใช่ มันต้องมีคอนเซ็ปต์อื่นเข้ามาเพื่อเอ็นเตอร์เทน ตอนนี้ผมกำลังถกกับภรรยาว่าจะทำรถโกคาร์ทที่ใช้ไฟฟ้า เป็นแทร็คเล็กๆสัก ๒๕ ไร่ จะได้เป็นการเอ็นเตอร์เทนครบวงจร ทั้งปั่นจักรยาน ดูสวนสัตว์ ขี่รถม้า เรียนขี่ม้า ว่ายน้ำ ฟิตเนส ขับรถ คือผมมีโอกาสได้เดินทางไปหลายประเทศ ผมก็ไปดูกิจกรรมเขา แล้วก็ดึงมาเป็นส่วนๆ ตอนนี้ก็อาศัยภรรยาในการช่วยบริหาร และวางระบบต่างๆ ผมก็ทำแบบ...ชาวบ้านหน่อยแต่สะอาด และผมก็ไม่เอาแบบฉิ่งฉับทัวร์ ไม่ใช่ว่าใครมีสตางค์เอามาให้ผมแล้วทำยังไงก็ได้ ผมอยากให้เป็นที่ที่สงบ มาแคมปิ้งก็ต้อง No Drinking ห้ามดื่มสุรา ปลาผมก็ไม่ให้จับ อยากให้คนมาสัมผัสกับบรรยากาศสวนพฤกษศาสตร์ คือพยายามทำอะไรให้ครบวงจร มีความหลากหลาย อย่างผมปลูกปาล์ม ผมก็มีต้นไม้ป่าด้วย ให้ธรรมชาติเขาอยู่ด้วยกัน"
ในเนื้อที่ ๒๘๕ ไร่ ของสวนพฤกษศาสตร์ทวีชล นับว่าเป็นขุมความรู้สำหรับผู้สนใจด้านพฤกษศาสตร์ ประกอบด้วยศูนย์รวมพันธุ์ไม้ ที่มีทั้งพืชป่าเมืองร้อน น้ำตกจำลอง และพันธุ์ไม้ที่หาดูได้ยาก พิพิธภัณฑ์ โรงแรม Horizon Village & Resort ห้องประชุม ห้องอาหาร สปอร์ตคอมเพล็กซ์ สวนสัตว์ เพื่อให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวรองรับผู้เข้ามาใช้บริการอย่างครบวงจร ถึงแม้ว่าจะมีต้นทุน ค่าใช้จ่ายสูงและอาจไม่คุ้มทุนในทางธุรกิจ แต่ก็เป็นการทำงานที่คุ้มค่าอย่างยิ่งในทางจิตใจ
"งานเกษตรเป็นงานที่ท้าทายมาก คนมีสตางค์เขาจะไม่ทำการเกษตร เขาจะไปเปิดร้านอาหารหรืออะไรก็ได้ที่ได้เงินกลับมาเร็วๆ บอกได้เลยว่าผมทำงานนี้ผมขาดทุนเดือนละสามแสน ไม่ต้องนับกับที่ลงทุนไปแล้ว ผมยอมขาดทุน แต่กำไรให้แก่สังคมครับ กำไรนี่มันก็มีหลายอย่าง เราไม่ได้คิดถึงเรื่องตัวเงิน แต่เราคิดว่าเราได้กำไรที่ได้ให้การศึกษา ให้วิชาการแก่คนอื่นๆ และอีกอย่างหนึ่งคืองานของเราได้เลี้ยงดูห้าสิบครอบครัวที่ทำงานที่นี่ ผมพอใจแล้ว ไม่ได้ห่วงว่าต้นทุนลงไปเท่านี้ต้องได้คืน ผมบอกภรรยาว่าเราทำดีที่สุดแล้วนะ ถ้ามันจะขาดทุนเราต้องยอม ผมยังหวังว่าวันหนึ่งเราจะไม่ต้องชักเนื้อให้กับคนงานเท่านั้นแหละ พอใจแล้ว โรงแรมก็เหมือนกัน ไม่ได้สร้างเพื่อหวังร่ำรวย แต่ทำยังไงให้เลี้ยงคนงาน เลี้ยงครอบครัวเขาให้อยู่ เท่านั้นพอแล้ว ไม่ต้องพูดถึงต้นทุนที่ผมลงทุนไป บางคนบอกว่าเอาเงินของท่านไปฝากแบงก์ ยังกำไรกว่า ไม่ต้องเหนื่อยด้วย คิดคนละแบบ ถ้าผมคิดอย่างนั้น สวนพฤกษศาสตร์ก็จะไม่เกิดขึ้น ถ้าคนคิดอย่างนี้กันมากๆ สังคมก็ไม่ต้องพัฒนา เพราะยังไงเราก็มีกินมีใช้ แล้วจะไม่คืนอะไรให้แก่สังคมเลยหรือ
ผมว่าความร่ำรวยเป็นสิ่งที่ทำให้เราได้เปรียบคนอื่น แต่ก็ทำให้เราต้องคิดมากกว่าคนอื่นว่าเราต้องเสียสละ บางคนเน้นทำบุญ อย่างผมเน้นมาที่การถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ประชาชนโดยไม่หวังผลกำไร ความสุขของแต่ละคนไม่เหมือนกัน จะเอาความสุขของผมเป็นมาตรฐานคงไม่ได้ แต่คนรวยควรต้องช่วยสังคม บางคนดอกเบี้ยก็เก็บ ต้นก็ออก มันก็งอกกันไปใหญ่ แต่ไม่มีโอกาสคืนให้สังคม ตายไปก็ไปตัวเปล่า ทรัพย์สินเงินทองเอาไปด้วยไม่ได้ จะมีหรือจะจน ตายไปเขาก็ห่อแล้วก็เอาไปเผา"
ด้วยจุดประสงค์ในการคืนสู่สังคม...ต้นไม้ใบหญ้า สิ่งก่อสร้างสารพัดสารพันที่ประกอบเป็น"สวนพฤกษศาสตร์ทวีชล"จึงเต็มไปด้วยชีวิตจิตใจของผู้สร้าง และอาจกล่าวได้ว่าการก่อร่างสร้างสถานที่แห่งนี้คือก้าวย่างสำคัญหนึ่งของ ทวีศักดิ์ เสสะเวช ในการเดินไปสู่ "เส้นขอบฟ้า" แห่งชีวิต
“...ชีวิตผมตั้งแต่เกิดจนถึงตอนนี้ เป็นคนอยู่นิ่งไม่ได้ ตอนรับราชการก็ไม่ใช่ว่าทุกอย่างจะเป็นไปด้วยดี แต่ผมก็ทำเต็มกำลัง เราอุทิศเวลา ๓๘ ปี กับชีวิตราชการก็มากพอสมควร ต่อจากนี้ก็เป็นเรื่องที่เรามาบริหารงานของเราเอง ผมก็ต้องทำงานต่อไป ถ้าหยุดเมื่อไรคือตาย ตราบใดที่สมองผมยังดี ความแข็งแรงยังไปได้ ก็จะทำอยู่ เรื่องโรคมะเร็งผมก็รู้ตัวว่าเป็นมาหลายปีแล้ว แต่ก็รักษาตัวเองไป แล้วก็ไม่เคยท้อ อะไรจะเกิดก็ให้มันเกิด ผมก็พยายามทำงานพวกนี้ให้แก่สังคม เพราะวันหนึ่งเวลาจะไป ผมก็ต้องไปตามกาลเวลา แต่ก็ยังดีที่เราได้ทิ้งอะไรไว้ข้างหลัง”